นางมหาเทพกษัตรสมุห (บรรเลง ศิลปบรรเลง สาคริก)

ผู้มีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ช่วงที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๘๐ – ๒๕๐๐

ประวัติ

      นางมหาเทพกษัตรสมุห (บรรเลง ศิลปบรรเลง สาคริก) เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๑เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เป็นบุตรหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นครูสอนที่โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย และเป็นหัวหน้าหมวดวิชานาฏศิลป์และดนตรีที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และชมรมดนตรีไทยเพื่อสืบทอดมรดกทางด้านดนตรีไทยมีความสามารถเล่นดนตรีได้ทั้งเครื่องตีและเครื่องสายทุกชนิด ที่ถนัดที่สุดคือระนาดทุ้ม เมื่อครั้งยังรับราชการได้เป็นผู้จัดตั้งวงดนตรีใน สถานศึกษาที่ได้ปฏิบัติราชการทุกแห่ง เป็นผู้ริเริ่มให้มีการประกวดขับร้องเพลงไทยและดนตรีไทยในงานอนุกาชาด และงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน จนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงาน ดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาศิลปะ การช่างศิลปะและการฝีมือ และเคยได้รับพระราชทาน “เสมาทองคำ ร.พ.” จากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗


ความเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • ครูโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย และหัวหน้าภาควิชานาฏศิลป์และดนตรีที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา พ.ศ. ๒๔๘๐ – ๒๕๑๑
ผลงานที่สำคัญต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  1. เป็นผู้ตั้งวงดนตรีไทยฝึกซ้อมดนตรีและเพลงไทยจนชนะเลิศการประกวดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนและงานอนุกาชาด
  2. จัดการแสดงละคร จากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๙๓ ที่โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก
  3. เป็นผู้ริเริ่มให้มีการรำซัดชาตรีในละครบางเรื่อง โดยได้เชิญครูมาลี คงประพัสส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านละครชาตรีและละครนอกของกรมศิลปากรเป็นผู้ฝึก
  4. เป็นผู้ให้แนวคิดการแต่งตัวละครแบบลำลอง โดยมีคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง เป็นที่ปรึกษา จึงมีแบบแผนการแต่งกายแบบประหยัด เช่น เกล้าจุกกระบังหน้าแทนชฎา สวมเสื้อผ้าที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่เป็นต้น
  5. ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนของประเทศไทย ไปประชุมเกี่ยวกับการละครในภูมิภาคเอเชียที่ประเทศอินเดีย
  6. ได้รับทุนกระทรวงศึกษาธิการ ไปศึกษาดูงานที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเวลา ๑ ปี ในโอกาสนี้ได้ทำชื่อเสียงให้กับประเทศไทยโดยการเดี่ยวจะเข้ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศฟิลิปปินส์เป็นที่ชื่นชอบของชาวฟิลิปปินส์เป็นอย่างมากและได้นำโน้ตเพลงชาติไทยไปสอนนักดนตรีฟิลิปปินส์จนสามารถบรรเลงได้
  7. เป็นผู้ริเริ่มพิธีไหว้ครูครอบโขนละคร ในวิทยาลัยครูสวนสุนันทา ซึ่งดำเนินพิธีมาจนถึงปัจจุบัน
  8. ฟื้นฟูการแสดงละครปริศนาของรัชกาลที่ ๖ โดยนำมาสอนนักเรียนฝึกหัดครู และสมาชิก อ.ศ.ร. ตามรูปแบบเดิมทุกประการ ทำให้มีการแสดงละครปริศนาแพร่หลายมาจนทุกวันนี้

      จะเห็นได้ว่านางมหาเทพกษัตรสมุห เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อชาติทางด้านศิลปะการแสดงในด้านดนตรีนาฏศิลป์ คีตศิลป์ การละคร การประพันธ์เพลง และการอำนวยเพลง ด้วยการฟื้นฟูดนตรีและเพลงไทยของบิดาที่เคยสร้างผลงานและชื่อเสียงในอดีตโดยการอนุรักษ์สืบต่อเผยแพร่และสร้างสรรค์ ผลงานใหม่ๆ ขึ้นดังปรากฏในผลงานเด่นที่กล่าวมา และกล่าวได้ว่า นางมหาเทพกษัตรสมุห คือครูผู้สร้างให้เกิดนาฏศิลป์ในโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในด้านการแสดง

ย้อนกลับ